ไทยผนึกศรีลังการ่วมมือทางเศรษฐกิจ 10 สาขา หวังดันการค้าสองฝ่ายเพิ่ม 1,500 ล้านเหรียญปี 63

ไทย-ศรีลังกา ทำแผนปฏิบัติการร่วมขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 10 สาขาสำคัญ เริ่มดำเนินการทันที หวังดันการค้าสองฝ่ายเพิ่มเป็น 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 63 เผยจะใช้เป็นพื้นฐานการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ศรีลังกา ที่ตั้งเป้าบรรลุผลในปี 63 ด้วย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการค้าระหว่างไทยกับศรีลังกา ครั้งที่ 3 ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เมื่อวันที่ 5-6 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา ว่าที่ประชุมหารือถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Action Plan) ภายใต้ MOU ว่าด้วยการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ไทย-ศรีลังกา โดยทั้งสองประเทศตกลงที่จะร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันใน 10 สาขา และจะเริ่มดำเนินการทันทีจนถึงปี 2563 เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันการค้าสองฝ่ายให้เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 521.66 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2561 สู่เป้าหมาย 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2563 ตามที่ผู้นำสองประเทศกำหนดไว้ได้ รวมถึงจะเป็นพื้นฐานสำหรับการเจรจาจัดทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้เอฟทีเอไทย-ศรีลังกา ที่ตั้งเป้าจะสรุปผลการเจรจาภายในปี 2563 ด้วย

สำหรับแผนปฏิบัติการร่วม ครอบคลุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจใน 10 สาขา ได้แก่ 1. ด้านการลงทุน แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกฎระเบียบการลงทุนผ่านทางเว็บไซต์ และจัดให้มีจุดติดต่อประสานงาน (Enquiry Point) เพื่อตอบข้อซักถามด้านการลงทุนระหว่างกัน 2. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ให้ข้อมูลโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของศรีลังกา เพื่อเชิญชวนนักลงทุนไทยที่สนใจเข้าร่วมฝึกอบรมเรื่องการขนส่งและโลจิสติกส์ 3.ด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา โดยจัดกิจกรรมการขายแพ็คเกจทัวร์ร่วมกัน

4. ด้านการประมง แลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อต้านการทำประมง IUU แลกเปลี่ยนข้อมูลกฎระเบียบการลงทุนด้านประมงในศรีลังกา แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการเลี้ยงปลาสวยงาม 5. ด้าน SME แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรม สิ่งทอ และอาหารแปรรูป 6. ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร แลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและศึกษาดูงานการปลูกชาในศรีลังกา ฝึกอบรมและจับคู่ธุรกิจด้านเทคโนโลยีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร จัดคณะผู้แทนการค้าเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยเยือนศรีลังกา และจัดคณะผู้ซื้อจากศรีลังกาเยือนงานมหกรรมแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตรของไทย (งาน ThaiTAM)

7. ด้านอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ จับคู่ธุรกิจผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ทดสอบบรรจุภัณฑ์ในศรีลังกา ฝึกอบรมด้านพัฒนาบรรจุภัณฑ์และให้บริการทดสอบบรรจุภัณฑ์ 8. ด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ลงนาม MoU ความร่วมมือระหว่างสถาบัน GIT ของไทยกับสถาบันวิจัยอัญมณีและเครื่องประดับของศรีลังกา นำผู้ประกอบการไทยและศรีลังกาเข้าร่วมงานแสดงสินค้าด้านอัญมณีและเครื่องประดับที่แต่ละฝ่ายจัด 9. ด้านการพัฒนาด้าน IT ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านไอที แลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย ศึกษาดูงานโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีดิจิทัล และ 10. ด้านความร่วมมือทางการเงิน ให้วงเงินสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการศรีลังกาที่นำเข้าสินค้าจากไทยผ่านธนาคารตัวแทนของ EXIM Bank ในศรีลังกา

ทั้งนี้ ศรีลังกาเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ ถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจสูง ตลอดจนเริ่มมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอัญมณีและประมง ในปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับศรีลังกามีมูลค่า 521.66 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.69 โดยไทยส่งออกไปศรีลังกา 438.18 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจาก ศรีลังกา 83.47ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปศรีลังกา เช่น ปลาแห้ง ผ้าผืน รถยนต์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล น้ำตาลทราย ยางพารา เม็ดพลาสติก ปูนซิเมนต์ เคมีภัณฑ์ และ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สินค้านำเข้าที่สำคัญของไทยจากศรีลังกา เช่น เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ น้ำมันสำเร็จรูป เสื้อผ้าสำเร็จรูป สัตว์น้ำสด แช่เย็น/แช่แข็ง/ แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ลวดและสายเคเบิล ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ กาแฟ ชา เครื่องเทศ และ เครื่องประดับอัญมณี เป็นต้น

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here